เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับเกณฑ์การรักษาโรค โดยแนะนำให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยกักตัวที่บ้าน หรือ รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) แทนการนอนโรงพยาบาล
ทั้งนี้ จากข้อมูลแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ระบุถึงเกณฑ์การหายป่วย หรือให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล (กรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล) ไว้ ดังนี้
ผู้ป่วยที่สบายดีหรือไม่มีอาการ
เนื่องจากไม่มีอาการป่วยใด ๆ กลุ่มนี้จะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและกักตัวเองที่บ้าน (Self isolation) หรือรักษาตัวในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาหรืออาจได้รับฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์
เกณฑ์หายป่วย : เมื่อแยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้ครบ 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ เช่น ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยไม่มีอาการป่วยใด ๆ เลย จะถือว่าหายป่วยในวันที่ 20 มีนาคม (ยกเว้นว่าระหว่างรักษาตัวมีอาการหรือความผิดปกติใด ๆ ตรงนี้จะต้องให้แพทย์ประเมินอีกครั้ง)
สำหรับผู้ป่วยที่ได้นอนโรงพยาบาล แต่มีปัญหาเตียงไม่พอ อาจให้อยู่ที่สถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน เช่น อยู่โรงพยาบาล 5-7 วัน แล้วอนุญาตให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อจนครบ 10 วันตามเกณฑ์
ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย
กลุ่มนี้จะได้รักษาตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาประมาณ 10 วันนับจากวันที่มีอาการ โดยรับประทานยารักษาตามอาการที่เป็น
เกณฑ์หายป่วย : จะถือว่าหายป่วยและออกจากบ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้เมื่อครบ 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ เช่น ตรวจพบเชื้อวันที่ 8 มีนาคม แต่วันที่ 10 มีนาคม มีไข้และมีน้ำมูก ก่อนจะรักษาจนหายดีในวันที่ 17 มีนาคม แบบนี้จะเท่ากับหายป่วยในวันที่ 20 มีนาคม (นับจากวันที่มีอาการคือ 10 มีนาคม ไปอีก 10 วัน จะตรงกับวันที่ 20 มีนาคม)
อย่างไรก็ตาม หากครบ 10 วันตามที่กำหนดแล้ว แต่ยังมีไข้ให้แยกกักตัวต่อไปจนอาการดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
สำหรับคนที่นอนโรงพยาบาล และมีปัญหาเตียงไม่พอ อาจให้อยู่ในสถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะภายใน 1 ปี ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้
เกณฑ์หายป่วย : ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะออกจากโรงพยาบาลได้ก็ต่อเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว โดยจะต้องกักตัวต่อที่บ้าน ระยะเวลารวมอย่างน้อย 20 วัน นับจากวันที่มีอาการ
- อาการดีขึ้น และภาพรังสีปอดไม่แย่ลง
- อุณหภูมิไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง
- อัตราการหายใจไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที
- ระดับออกซิเจนในเลือด มากกว่า 96% ขณะพัก หรือบางคนอาจกลับพร้อมออกซิเจน
ดังนั้นถ้าถามว่า หายป่วยโควิดแล้วไปตรวจโควิด RT-PCR จะเป็นบวกหรือไม่ คำตอบก็คือ มีโอกาสเป็นบวกได้ จากซากเชื้อที่ก่อโรคไม่ได้ การตรวจหาเชื้อซ้ำหลังหายจากโรคแล้วจึงไม่มีประโยชน์ เพราะทำให้เข้าใจผิดว่าเรายังแพร่เชื้อได้ ทั้งที่จริง ๆ คือหายป่วยและไม่แพร่เชื้อแล้ว
ประเด็นนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่หายป่วย คือกักตัวครบตามเกณฑ์ที่กำหนด จัดว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อ และอยู่ในระยะที่ร่างกายฟื้นตัว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแยกกักตัวหรือแยกจากคนอื่นแล้ว สามารถทำงานได้ตามปกติ
ส่วนผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลยังไม่ครบวันที่กำหนด แต่แพทย์พิจารณาให้กลับไปกักตัวต่อที่บ้านได้ กลุ่มนี้จะต้องกักตัวที่บ้านให้ครบกำหนดก่อน เช่น ถ้าอยู่ในโรงพยาบาล 7 วัน ต้องกลับมากักตัวที่บ้านอีก 3 วัน ให้ครบ 10 วัน จึงจะถือว่าหายป่วยแล้ว (กรณีไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น) โดยการกักตัวที่บ้านจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
สิ่งที่คนหายป่วยจากโควิดควรปฏิบัติเมื่อกลับจากโรงพยาบาล หรือภายหลังรักษาตัวที่บ้านจนครบ 10 วันแล้ว มีดังนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคม
2. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ถูมือให้ทั่วถึง
3. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
4. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
5. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด
6. หากมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนให้งดอาหารย่อยยากและอาหารประเภทนมหรือผลไม้สด
7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง
8. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดทุกชนิด เพื่อลดการทำลายอวัยวะภายใน
9. สังเกตตัวเองว่ามีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ เช่น มีไข้สูง ไอมาก มีอาการเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดโควิด หรือติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ควรรีบติดต่อที่สถานพยาบาลเดิมที่เคยรักษา หรือโทร. ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
10. หากต้องไปสถานพยาบาล ให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางตลอดเวลา
หายจากโควิด 19 กี่วันถึงฉีดวัคซีนได้ หลังติดยังจำเป็นต้องฉีดไหม
เช็กอาการหลังหายจากโควิด 19 มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว (Long Covid)
บทความที่เกี่ยวกับโควิด 19
- เช็กลิสต์ยาที่ควรมีช่วงโควิด ติดบ้านไว้ใช้ดูแลตัวเอง-รักษาอาการเบื้องต้น
- ติดโควิดแต่ไม่มีเตียงทำยังไง รวมวิธีดูแลรักษาโควิดเบื้องต้น เมื่อจำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน
- โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ
- 12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน Home isolation
- เครื่องผลิตออกซิเจน ยี่ห้อไหนดี ราคาไม่เกิน 20,000 บาท ไอเทมขายดีช่วงโควิด
- วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร
- ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ต้านไวรัส รักษาโควิด 19 รู้จักสักนิด ทำไมถึงไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกคน
- อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา
- ติดโควิดหายแล้วต้องฉีดวัคซีนไหม มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือเปล่า
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 กรกฎาคม 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (1), (2), (3), กรมการแพทย์