วิเคราะห์ เปิดประเทศใน 120 วัน ในวันที่วัคซีนเข้ามาไม่ทัน คนไทยคุ้มไหมที่จะเสี่ยง


               เปิดไทม์ไลน์ สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย ตอบสนองเป้าหมายนายกรัฐมนตรี ประกาศเตรียมเปิดประเทศใน 120 วัน พร้อมบทสรุป เราพร้อมหรือไม่ที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ


            จากกรณีเมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน 2564) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการตั้งเป้าเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจ รับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาโดยที่ไม่ต้องกักตัว หากว่านักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบแล้ว ทว่าเรื่องนี้ยังก่อให้เกิดความกังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องวัคซีนที่จะเข้ามา ซึ่งวันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาวิเคราะห์ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของวัคซีนโควิด 19 ของไทย ว่าจะเป็นอย่างไร และเส้นตาย 120 วันที่กำหนดเอาไว้ จะเป็นการเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า หรือกลายเป็นว่าทำให้เชื้อโควิดแพร่มากกว่าเดิม

เปิดจำนวนวัคซีนที่เข้ามาในไทย เกือบ 10 ล้านโดส แต่เพิ่งฉีดไปแล้วเพียง 5 ล้านโดสเท่านั้น

            ประเทศไทยเริ่มนำเข้าวัคซีนโควิด 19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 และนำเข้ามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยในช่วงแรกนั้น วัคซีนที่เข้ามาคือวัคซีนของซิโนแวค และทางการประกาศว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้ามาล็อตใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีวัคซีนเข้ามากว่า 100 ล้านโดส

            อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว แต่วัคซีนที่เข้าไทยนั้นมีเพียง 10 ล้านโดสเท่านั้น และการฉีดวัคซีนโควิดก็ทำไปได้เพียงครึ่งเดียว คือประมาณ 5 ล้านโดส โดยจะมีมาเร่งฉีดได้เยอะที่สุดคือช่วงเดือนมิถุนายน ที่ทำสถิติได้สูงสุดถึงวันละ 4.7 แสนโดส ก่อนที่จะลดลงมาเรื่อย ๆ

วัคซีนโควิด 19
ภาพจาก Steve Heap / Shutterstock.com

สำหรับยอดวัคซีนที่เข้าไทยมาแล้วคร่าว ๆ ดังนี้...

            - วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 22 มีนาคม 2564 จำนวน 8 แสนโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 10 เมษายน 2564 จำนวน 1 ล้านโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 24 เมษายน 2564 จำนวน 5 แสนโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1 ล้านโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เป็นวัคซีนที่ทางประเทศจีนบริจาค จำนวน 5 แสนโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 จำนวน 5 แสนโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 4 มิถุนายน 2564 จำนวน 1.8 ล้านโดส (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า)

            - วันที่ 5 มิถุนายน 2564 จำนวน 5 แสนโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 10 มิถุนายน 2564 จำนวน 1 ล้านโดส (วัคซีนซิโนแวค)

            - วันที่ 16 มิถุนายน 2564 จำนวน 6 แสนโดส (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า)

            - วันที่ 18 มิถุนายน 2564 กำลังจะเข้าไทยอีก 1 ล้านโดส (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า)

สำหรับตัวเลขผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว มีทั้งสิ้น...

            รายการเรื่องเล่าเช้านี้ สรุปตัวเลขข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 15 มิถุนายน 2564   

             - ฉีดวัคซีนแล้ว 4,948,227 โดส (9.89 เปอร์เซ็นต์)

             - จะต้องฉีดอีก 45,051,773 โดส (90.11 เปอร์เซ็นต์)

วัคซีนโควิด 19

ไทยต้องฉีดวัคซีนให้ได้ทุกวัน วันละ 3.7 แสนโดส แต่เราจะไปถึงจุดนั้นได้จริงหรือ

             การที่ไทยจะฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 1 เข็ม เพื่อเร่งเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน เราจะต้องฉีดให้ได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ คือ 375,432 โดสต่อวัน ซึ่งหากดูสถิติแล้วจำนวนนี้คงไม่ยากเกินไปที่จะฉีด หากมีวัคซีนเข้ามาจริง เพราะเราเคยทำได้สูงสุดที่ 4.7 แสนโดสต่อวันมาแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมองตามความเป็นจริง อัปเดตเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน รวมเข็มที่ 1 และ 2 ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ที่ 186,164 โดสต่อวัน

             เรื่องนี้จึงก่อให้เกิดคำถามใหญ่ว่า เราจะมีวัคซีนเพียงพอให้ฉีดได้แบบ “ปูพรม” อย่างที่รัฐบาลกล่าวเอาไว้หรือไม่ และเราจะมีกำลังความสามารถ “เพียงพอหรือไม่” กับการที่จะจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีนกันได้มากขนาดนี้

แผนการจัดการและกระจายวัคซีน กับคำถามว่า จะหาได้ทันเวลาไหม

             ทั้งนี้ เป้าหมายในการจัดหาวัคซีนของไทย อยู่ที่ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี โดยที่ทางรัฐบาลก็เผยแล้วว่า ได้มีความพยายามในการเร่งเจรจานำเข้าวัคซีนอื่น ๆ นอกเหนือจากวัคซีนของซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยวัคซีนที่เข้ามานั้นจะมีทั้ง ซิโนฟาร์ม, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยแบ่งออกเป็น

             - ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส (คาดว่าเข้ามาภายในไตรมาส 3 โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค)

             - จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส (คาดว่าเข้ามาภายในไตรมาส 3 โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค)

             - ซิโนฟาร์ม (มีบุคคลยื่นความประสงค์แล้วกว่า 3.6 ล้านคน)

             - วัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนโมเดอร์นา (คาดว่าเข้ามาในไตรมาส 4 ของปีนี้), สปุ๊ตนิกวี, และอื่น ๆ

             ทั้งนี้ จากแผนเดิมในเดือนเมษายน 2564 พบว่า ทางการไทยมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนจากเดิม 63 ล้านโดส เพิ่มมาอีก 30 ล้านโดส และบวกกับเอกชนอีก 7 ล้านโดส แต่เนื่องจากการจัดส่งที่ล่าช้า และความต้องการวัคซีนที่สูงอยู่ทั่วโลก จึงต้องมาลุ้นกันว่าวัคซีนที่รัฐบาลไปตกลงเอาไว้ จะสามารถส่งมาได้ทันเวลาอย่างที่ต้องการไหม


สรุปแล้วไทยพร้อมไหมที่จะเปิดประเทศใน 120 วัน รับคนต่างชาติเข้ามา

             การคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะพร้อมหรือไม่สำหรับการเปิดประเทศนั้น คงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทวัคซีนจะจัดส่งวัคซีนให้ได้ทันกำหนดการหรือไม่ แม้ว่าจะมีการทำสัญญาไปแล้วก็ตาม เช่น วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลเคยประกาศว่าจะเข้ามาในเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส แต่ในความเป็นจริงแล้ว จนเกือบจะสิ้นเดือน วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถเข้ามาในไทยได้เพียง 3.4 ล้านโดสเท่านั้น

             ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า จากการระบาดในครั้งที่ 2 ของไทย เกิดจากการลักลอบเข้าประเทศตามชายแดน จนเกิดคลัสเตอร์ “วันจีวัน” และการเปิดประเทศใน 120 วันนี้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนที่เข้ามาฉีดวัคซีนโควิด 19 จากประเทศต้นทางแล้ว การคัดกรองของไทยมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ?

             อย่างไรก็ตาม การเร่งจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุดและให้ได้ไวที่สุด ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายและต้องเร่งทำอย่างด่วนเพื่อเปิดประเทศใน 120 วันนี้ มิเช่นนั้นเราก็อาจต้องรอออกไปอีก ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็มากกว่าเดิมอีก หรือการเปิดประเทศที่เร็วจนเกินไปก็อาจจะยิ่งทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ หรือไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศมากกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเดิมพันกันสูง และมีชีวิตของคนไทยเป็นประกันว่าจะรอดจากโควิด หรือจะรอดจากพิษเศรษฐกิจหรือไม่



ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว INN, เรื่องเล่าเช้านี้, ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์ เปิดประเทศใน 120 วัน ในวันที่วัคซีนเข้ามาไม่ทัน คนไทยคุ้มไหมที่จะเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2564 เวลา 18:10:08 9,747 อ่าน
TOP