ศบค. เปิดไทม์ไลน์ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นผู้ป่วยเก่า มีซากเชื้อ - เจอเพิ่มอีก 1 รอตรวจสอบ

          ศบค. แถลงเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด 19 ชี้เป็นผู้ป่วยเก่า เคยกักกันตัวแล้วแต่มาตรวจสุขภาพถึงเจอซากเชื้อ ส่วนอีกรายอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หลังเคยตรวจในสถานกักกัน 2 รอบ ไม่พบ แต่มีเชื้อน้อย



          ภายหลังจากที่มีการตรวจพบคนไทย ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเป็นคนไทยที่กลับมาจากดูไบ กักตัวครบ 14 วัน ในสถานที่กักกันของรัฐบาล และออกมาใช้ชีวิตปกติ ก่อนตรวจเจอเชื้อ COVID-19 ภายหลัง เบื้องต้นเข้ารับการรักษาที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ 

อ่านข่าว : ด่วน ! พบผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ภายในประเทศไทย หลังไม่พบผู้ติดเชื้อมานานกว่า 86 วัน


         วันที่ 19 สิงหาคม 2563 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า มี 2 ราย รายแรกที่มีข่าวว่าตรวจพบเชื้อโควิด 19 เป็นเพศหญิง อายุ 34 ปี เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ไม่มีอาการใด ๆ เข้ารับการกักตัวที่สถานที่กักกันของรัฐบาล 14 วัน

         - วันที่ 5 มิถุนายน 2563 การตรวจครั้งที่ 1 ตรวจพบปริมาณน้อย สรุปผลกำกวม

         - วันที่ 13 มิถุนายน 2563 การตรวจครั้งที่ 2 ผลตรวจไม่พบเชื้อ

         - เมื่อดำเนินการตรวจครบ 14 วัน จึงอนุญาตให้เดินทางกลับภูมิลำเนาที่ จ.ชัยภูมิ แยกตัวจนครบ 30 วัน

         - วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมเดินทางไปต่างประเทศ และมีการตรวจเชื้อโควิด 19 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

         - วันที่ 18 สิงหาคม 2563 พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด 19 ในปริมาณน้อย เจาะเลือดตรวจพบมีภูมิคุ้มกันแล้ว ขณะที่แพทย์รับไว้ดูแลในโรงพยาบาล

         - รายแรกไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ผู้ใกล้ชิดให้เฝ้าระวัง คนอื่นไม่มีความเสี่ยง


         สรุปผลรายแรก เป็นผู้ติดเชื้อรายเดิมที่มีการตรวจพบซากเชื้อ และเคยอยู่สถานที่กักกันจนครบกำหนดแล้ว และเป็นการติดเชื้อตั้งแต่ครั้งก่อน ไม่ได้มีการติดเชื้อใหม่ ซากเชื้อนั้นไม่สามารถแพร่โรคได้ แต่ยังอยู่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นไม่ใช่การระบาดรอบที่ 2 แต่เป็นคนที่มาตรวจสุขภาพ แต่เผอิญเป็นคนที่เคยอยู่ในสถานที่กักกัน

* ผู้ป่วยรายที่ 2

         - เพศหญิง อายุ 35 ปี เคยทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เข้ากักตัวที่สถานกักกัน 14 วัน

         - ตรวจเชื้อโควิด 19 ทั้งหมด 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ จึงอนุญาตให้กลับภูมิลำเนาที่ จ.เลย

         - วันที่ 16 สิงหาคม 2563 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพื่อเตรียมไปทำงานต่างประเทศ

         - วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ตรวจสุขภาพ พบสารพันธุกรรม ขณะนี้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับตัวมาดูแลแล้ว

         - ต้องรอการตรวจสอบข้อมูลย้อนไปช่วงที่อยู่ในสถานที่กักกัน เรื่องผลแล็บ เนื่องจากเพิ่งรับเข้ามาในโรงพยาบาล แต่ลักษณะคล้ายกับเคสแรก

         - พบเชื้อน้อย ทางโรงพยาบาลแยกมาเพื่อดูอาการ ไม่มีการให้ยารักษา เนื่องจากคนไข้ไม่มีอาการใด ๆ

         อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลระบาดวิทยา คาดว่ามีโอกาสติดเชื้อในประเทศได้น้อยมาก ทั้งนี้ ต้องทำการตรวจสอบโดยจะใช้กระบวนเดียวกันกับรายแรก หากทราบผลจะแจ้งให้ทราบต่อไป ในภาพรวมหลังได้รับรายงานก็ได้ให้ทีมสอบสวนโรคประสานงานผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในครอบครัวและชุมชน แนะนำให้เฝ้าระวังอาการ


         ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงเรื่องการพบเชื้อ US CDC อยู่ได้นานเท่าไหร่นั้น ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการพบเชื้อ ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคสำหรับคนที่เคยป่วย ได้นานถึง 3 เดือน ซึ่งในประเทศไทยก็เคยเจอเคสแบบนี้ มีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในโรงพยาบาล 2 เดือนเศษ เราตรวจจนไม่พบเชื้อถึงให้ออกจากโรงพยาบาล 2 รายนี้ อยู่ในสถานที่กักกัน 14 วัน และกลับไปกักกันตัวเองที่บ้านจนครบ 30 วัน ก็ถือว่ามีความปลอดภัย แนะนำคนใกล้ชิดรายแรกให้เฝ้าระวัง 14 วัน ส่วนรายที่ 2 กระบวนการตรวจสอบจะดำเนินการเช่นเดียวกัน

         โดยข้อมูลทางระบาดวิทยา เราไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลา 86 วัน เราไปตรวจเชิงรุกในหลายพื้นที่ ซึ่งผลทั้งหมดเป็นลบ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานที่กักกัน นั่นก็หมายความว่าตัวโอกาสที่ติดเชื้อในประเทศนั้นน้อย แต่ด้วยมาตรฐานการควบคุมโรคของประเทศ จึงต้องมีการตรวจสอบและสอบสวนโรค ทางโรงพยาบาลรามาฯ จึงต้องรับผู้ที่มาตรวจสุขภาพรายที่ 2 เข้าโรงพยาบาล แยกมาเพื่อความปลอดภัย และจะมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อจะพิสูจน์ซากเหมือนรายที่ 1

         นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า สำหรับเคสแรกมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อ ส่วนรายที่ 2 นั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลตลอด ถามว่าปลอดภัยไหม เราต้องระวังตลอด เพราะไม่สามารถจะจัดการกันได้ง่าย ๆ ประเทศที่เป็น 0 มานานกว่าเราก็ยังเกิดขึ้นมาได้ ต้องไม่ประมาท ส่วนเรื่องที่มีการชุมนุมกันเยอะ ๆ นั้น ยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่ในประเทศ น้อง ๆ เด็ก ๆ ที่ต้องอยู่ใกล้กัน ต้องป้องกันตัวเองด้วยเสมอ หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ล้างมือ ต้องทำเสมอ ทำตลอด

         เคสที่ 2 นั้น กระบวนการโดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าผลตรวจออกมาประมาณไหน ที่บอกว่าต้องตรวจสอบ เพราะตรวจ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ก็ต้องไปย้อนดูเมื่อช่วงที่มากักกันตัวเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ก็พบสารพันธุกรรมน้อยทั้งคู่ เพียงแต่ครั้งหลังสุดที่มาตรวจ เขาได้ตรวจภูมิต้านทานด้วย แล้วเจอซากเชื้อเท่านั้นเอง ไม่มีความเสี่ยง 

         ทั้งนี้ รายที่ 2 ยังไม่ได้สรุปวินิจฉัย แต่ได้มีการนำตัวผู้ป่วยมาอยู่ในระบบโรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีอาการ สบายดี เพียงแค่มาตรวจเพื่อจะเดินทางไปต่างประเทศ และมีการใส่หน้ากาก ล้างมือเสมอ ถ้ามีเชื้อน้อย ๆ โอกาสแพร่ก็น้อยมาก เดี๋ยวรอให้มีการตรวจเพิ่มเติม คาดว่าใช้เวลาไม่นาน โอกาสที่เราจะพบการติดเชื้อในประเทศน้อย แต่เราต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ข้อมูลเป็นอย่างไรจะรายงานความคืบหน้าต่อไป

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศบค. เปิดไทม์ไลน์ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นผู้ป่วยเก่า มีซากเชื้อ - เจอเพิ่มอีก 1 รอตรวจสอบ อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2563 เวลา 23:11:07 32,111 อ่าน
TOP