มาแล้ว เผยวิธียืดอายุหน้ากากอนามัย ใช้ซ้ำกัน COVID-19 ได้ ไม่ต้องไปควานหา

            อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยคำแนะนำจากจีน-ไต้หวั่น กับการป้องกันโรคระบาด โควิด 19 ด้วยวิธีการใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ เหตุปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดแคลน

หน้ากากอนามัย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant

            เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม 2563) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่สำหรับป้องกัน COVID-19 จากบทความของทางประเทศจีน และไต้หวัน กับวิธีการยืดอายุการใช้งานหน้ากากอนามัย

            โดย ไต้หวัน ระบุว่า หน้ากากอนามัยสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หากผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ที่ตอนนี้คนกำลังแตกตื่น ทำให้ขาดแคลนหน้ากากอนามัย มีคำแนะนำมีดังนี้...

            1. หน้ากากอนามัย สามารถใช้ไปได้เรื่อย ๆ ถ้ามันยังไม่เปียก และไม่ได้ไปใช้ในพื้นที่ที่เสี่ยงติดเชื้อมาก เป็นเวลานานกว่า 4-6 ชั่วโมง (เช่น โรงพยาบาล)

            2. ถ้าจะฆ่าเชื้อด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต (เช่น บ้านใครมีเครื่องล้างจานแบบที่ใช้แสงยูวีลงไปได้ด้วย) ต้องฉายแสงด้านละ 30 นาที ถึงจะพอต่อการฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นให้ไปเก็บในที่ที่สะอาดและแห้ง เป็นเวลา 3 วัน ก่อนจะนำมาใช้ใหม่ (งงเหมือนกัน ว่าทำไมต้องทำอย่างนี้)

            3. ใช้แอลกอฮอล์สเปรย์พ่นใส่หน้ากากอนามัย ทั้ง 2 ด้าน ทิ้งให้แห้ง ก็สามารถใส่ไปได้เรื่อย ๆ จนกว่ามันจะเริ่มฉีกขาด หรือปนเปื้อนเชื้อโรค

            4. หน้ากากที่ใช้วิธีดังกล่าวนั้น จะมีความสามารถในการกรองได้น้อยลง แต่มันก็ยังใช้ได้อยู่

            ด้าน ประเทศจีน ระบุดังนี้ ...

            1. ฆ่าเชื้อด้วยการอบแห้ง Oven dry heat disinfection

            2. ฆ่าเชื้อด้วยการพ่นแอลกอฮอล์ Alcohol spraying disinfection

            3. ฆ่าเชื้อด้วยการนึ่ง Steamer wet heat disinfection

            4. ฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงและแรงดันสูง High temperature and high-pressure disinfection

            5. ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต Ultraviolet disinfection

หน้ากากอนามัย

            ทั้งนี้ ข้อสรุปการฆ่าเชื้อแบบอบแห้งนั้น (อบที่ความร้อน 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที) ทำความเสียหายน้อยที่สุด ให้กับความสามารถในการกรองของหน้ากาก ยังคงความสามารถไว้ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ส่วนการพ่นแอลกอฮอล์และการนึ่งฆ่าเชื้อนั้น สามารถทำความเสียหายให้กับการกรองของหน้ากากได้

            ขณะที่ การฉายแสง UV นั้น ยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจนว่าสามารถทำให้ฆ่าเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเส้นใยของหน้ากากได้ดีเพียงใด จึงไม่ค่อยแนะนำวิธีนี้

            มีวิธีหนึ่งที่แนะนำคือ เอาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์นั้น มาใส่ไว้ในถุงซิปล็อก แล้วเป่าด้วยลมร้อนจากที่เป่าผมเป็นเวลานาน 30 นาที ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน โดยไม่ค่อยส่งผลเสียต่อความสามารถในการกรองของหน้ากากนัก


            ปล. บางคนอาจจะเห็นคลิปที่เผยแพร่กัน เป็นการทดลองฉีดแอลกอฮอล์ลงไปบนหน้ากากอนามัย แล้วเทน้ำตามลงไป พบว่าน้ำซึมผ่านหน้ากากได้ทันที .. มันเป็นการทดลองที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะเขาใช้วิธีการพ่นแอลกอฮอล์ลงไป แล้วเทน้ำตามเลย ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นสารที่มีขั้ว ก็จะทำให้น้ำซึ่งเป็นสารที่มีขั้วอ่อนไหลออกผ่านช่องเล็ก ๆ ของเส้นใยหน้ากากได้โดยง่าย จริง ๆ แล้วเขาจะต้องสเปรย์แอลกอฮอล์และทิ้งให้จนแห้งถึงจะมาทดสอบใหม่

หน้ากากอนามัย



 

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant,  thebeijinger, focustaiwan

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาแล้ว เผยวิธียืดอายุหน้ากากอนามัย ใช้ซ้ำกัน COVID-19 ได้ ไม่ต้องไปควานหา อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2563 เวลา 16:34:03 61,331 อ่าน
TOP