ความรู้จากหมอจุฬาฯ ทำไม โคโรนาไวรัส จึงถูกทำลาย เมื่อเจอน้ำสบู่ ?

          ดร.แกง วีระพงษ์ หมอจุฬาฯ เผย เหตุใด โคโรนาไวรัส จึงถูกทำลายเมื่อเจอน้ำสบู่ ชี้ไวรัสไม่สามารถคงอยู่ได้ ถ้าเยื่อหุ้มถูกทำลาย

โคโรนาไวรัส

          จากสถานการณ์โรค COVID-19 ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้นานาประเทศกำลังเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งพบว่าวิธีที่ง่ายที่สุดในการดูแลตัวเองเบื้องต้นก็คือการใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ ก็จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่ง

          โดยล่าสุด (10 มีนาคม 2563) ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงวิธีการที่น้ำสบู่ไปทำลายโคโรนาไวรัสได้อย่างไร ไว้ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ดร.แกง ระบุว่า ไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง ไม่มีกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร ไม่มีโรงงานผลิตพลังงานของตัวเองสำหรับกระบวนการทางชีวเคมีที่ต้องสร้างและเก็บพลังงานในรูปของ Adenosine Triphosphate (ATP) หรือสารประกอบที่มีพลังงานสูง และเป็นสารที่พร้อมจะแตกตัวเพื่อปล่อยพลังงานออกมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เซลล์ต้องการ


โคโรนาไวรัส

          ไวรัสต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น แบคทีเรีย พืช สัตว์ และมนุษย์ เป็นแหล่งพักพิง (Host) อาศัยเครื่องมือในการผลิตชิ้นส่วนชีวิตของไวรัสเพิ่มจำนวน และเดินทางออกจากเซลล์พักพิงไปสำรวจเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ส่วนโคโรนาไวรัส (SARS-CoV-2) ที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้ มีโครงสร้างหลัก 3 ประการ คือ

          1. กรดนิวคลีอิกชนิด RNA มีหน้าที่คือ รับข้อมูลทางพันธุกรรมจาก DNA เพื่อนำไปสังเคราะห์โปรตีนรวมทั้งเอนไซม์และฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในเซลล์

          2. Capsids ทำหน้าที่ป้องกันกรดนิวคลีอิกของไวรัสจากสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เชื้อไวรัสเกาะติดที่ผิวเซลล์ในขั้นตอนการติดเชื้อ

          3. การมีไขมันที่เยื่อหุ้ม Envelope ที่ได้มาจากเซลล์โฮสต์ที่อยู่โดยรอบนิวคลีโอแคปซิด (Nucleocapsid) ของไวรัส

          อย่างไรก็ตาม ไวรัสมีทั้งชนิดที่มีและไม่มีเยื่อหุ้ม พวกที่มีเยื่อหุ้มจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไม่นานนัก ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่โคโรนาไวรัสเป็นพวกที่มีเยื่อหุ้ม และเนื่องจาก Envelope เป็นเยื่อหุ้มของไวรัสที่ประกอบไปด้วยสารไขมันและโปรตีน จึงไวต่อการถูกทำลายด้วยน้ำสบู่ โดยโมเลกุลสบู่มี 2 ส่วน คือ ส่วนหัว (ที่ชอบน้ำ) กับส่วนหาง (ที่ไม่ชอบน้ำ) ซึ่งส่วนหางนี้จะไปจับกับส่วนไขมันในเยื่อหุ้มของไวรัส เมื่อไขมันถูกแยกออกไป เยื่อหุ้มของไวรัสจึงถูกทำลาย ไม่สามารถคงอยู่ได้

          ทั้งนี้ ดร.แกง กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า คุณครูวิทยาศาสตร์ควรจะนำไปเป็นประเด็นในการนำเข้าสู่บทเรียน เพราะได้ทั้งวิชาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ นอกจากนี้ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ก็มีประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมให้อภิปรายได้อีกเยอะ



โคโรนาไวรัส

โคโรนาไวรัส
โคโรนาไวรัส

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19<< ได้ที่นี่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก ดร.แกง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความรู้จากหมอจุฬาฯ ทำไม โคโรนาไวรัส จึงถูกทำลาย เมื่อเจอน้ำสบู่ ? อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2563 เวลา 11:49:28 119,262 อ่าน
TOP