หมอเฉลย..ติดโควิดกี่วัน ถึงพ้นระยะแพร่เชื้อ แม้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดไม่ต้องกักตัวจริงหรือ ?


          2 หมอเตือน อย่าเข้าใจผิดติดโควิดแต่อาการทั่วไปหายแล้ว 5-7 วัน ต่อให้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดก็ไม่ต้องกักตัว เพราะเป็นซากเชื้อ ชี้ ATK ตรวจซากเชื้อไม่ได้ ย้ำถ้าขึ้น 2 ขีด ยังมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่ พร้อมยกความต่าง ATK และ RT-PCR ไม่เหมือนกัน

โควิด 19

          เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 นพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตนักร้อง ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด ที่ใช้เวลารักษาตัว 5-7 วันจนอาการทั่วไปหายแล้ว แต่เวลาตรวจ ATK แล้วยังขึ้น 2 ขีด ทำให้คิดว่าไม่ต้องกักตัวและใช้ชีวิตปกติได้ ความคิดนี้ผิดมหันต์ !

หมออั้ม เผย คนที่กักตัวมา 5 วัน ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องกักตัวต่อ ที่เจอไม่ใช่ซากเชื้อ แต่คือเชื้อจริง


          โดยในเฟซบุ๊ก อั้ม อิราวัต หมออั้ม ระบุว่า การที่คนติดโควิด 19  แล้วพบว่าอาการหายแล้ว แต่พอไปตรวจ ATK ยังพบว่าขึ้น 2 ขีด ก็คิดว่าเจอนั้นเป็นซากเชื้อและไม่กักตัวอีกต่อไป ความคิดนี้เป็นเรื่องที่ผิด เนื่องจากการตรวจ ATK นั้น ไม่ได้ละเอียดถึงขนาดเจอซากเชื้อ มีแค่การตรวจแบบ RT-PCR ที่ตรวจเจอซากเชื้อ ซึ่งการตรวจ RT-PCR ยังผิดได้เลย

          ดังนั้น หากตรวจ ATK แล้วยังขึ้น 2 ขีด นั่นหมายถึงยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้ไม่มากก็น้อย และหากคนใกล้ชิดเป็น เด็ก คนชรา ผู้มีโรคประจำตัว ยิ่งติดง่าย

โควิด 19

หมออั้ม อิราวัต
ภาพจาก เฟซบุ๊ก อั้ม อิราวัต


หมอชี้ ทำไมจึงใช้วิธีการตรวจ ATK เป็นตัวยืนยันสิ้นสุดการกักตัว ยืนยัน ATK 2 ขีด อย่างไรก็ต้องกักตัว


          ด้าน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ก็ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับความต่างของการตรวจแบบ ATK และ RT-PCR ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงนิยมใช้ ATK มาใช้ประกอบการในการสิ้นสุดการกักตัว โดยเฟชบุ๊ก Jiraruj Praise ระบุว่า ข้อความระบุว่า...

          ทั้งนี้พบว่า การตรวจ ATK นั้น คือการตรวจหาโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งอยู่ในตัวไวรัส และจะพบเมื่อมีการแบ่งตัวไวรัส หรือ พบในเซลล์ที่ถูกไวรัสติดเข้าไป หาก ATK ขึ้น 2 ขีดหมายความว่า ที่ตรวจเจอนั้นคือเชื้อจริง ๆ ไม่ใช่ซากเชื้อแบบที่เคยได้ยิน

          ในขณะที่การตรวจแบบ RT-PCR คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม หรือยีนของไวรัส ด้วยกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความไวและความจำเพาะในการบอกว่า โอกาสตรวจเจอเชื้อค่อนข้างสูง ใช้ได้ดีในการยืนยันการวินิจฉัยโรค

          แต่ในคนที่หายจากอาการของโรคแล้ว แม้ผ่านไป 14-28 วัน ก็ยังสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ผ่านวิธี  RT-PCR เท่านั้น ซึ่งสารนี้หลายคนเรียกว่าซากเชื้อ แต่ปริมาณจะน้อยมาก ดังนั้น เราจึงไม่ใช้ RT-PCR ในการตรวจว่าผู้ป่วยหายจากโควิดแล้วหรือยัง แต่จะใช้ RT-PCR ติดตามการรักษามีที่ใช้โดยเฉพาะบางกรณี แต่ไม่ขอกล่าวถึง

          และด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันหลายประเทศจึงพยายามนำ ATK มาใช้ประกอบการแนะนำในการสิ้นสุดการกักตัว เพราะถ้าตรวจเจอก็ไม่น่าจะเป็นซากเชื้อแบบที่พบใน PCR แปลว่า อาจจะปลอดภัยถ้าจะออกมาภายนอก (หยุดกักตัว) แต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ การตรวจทุกชนิด มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้เสมอ อาจเกิดผลบวกลวง ผลลบลวงจากการใช้งานชุดตรวจ จึงต้องทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

โควิด 19

จิรรุจน์ ชมเชย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jiraruj Praise

โควิด 19


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอเฉลย..ติดโควิดกี่วัน ถึงพ้นระยะแพร่เชื้อ แม้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดไม่ต้องกักตัวจริงหรือ ? โพสต์เมื่อ 15 เมษายน 2565 เวลา 12:05:46 265,465 อ่าน
TOP