อินโดฯ วิตก บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อหลายร้อย หลังฉีดซิโนแวค หวั่นเอาสายพันธุ์เดลตาไม่อยู่


            บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศอินโดนีเซีย พบติดโควิด 19 หลายร้อยราย หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค หลายสิบรายอาการหนัก ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หวั่นถึงประสิทธิภาพของวัคซีน เมื่อต้องเจอสายพันธุ์เดลตา

วัคซีนโควิด 19
ภาพจาก Rizqullah Hamiid Saputra / Shutterstock.com

            วันที่ 17 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ประเทศอินโดนีเซีย พบบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนมากกว่า 350 ราย ติดโควิด 19 ภายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค โดยในจำนวนนี้มีหลายสิบรายอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่งผลให้กังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนบางชนิดในการต่อต้านเชื้อที่แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น

            บาได อิสโมโย หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขในเมืองคูดุส จังหวัดชวากลาง ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่พบว่าติดเชื้อ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่อีกส่วนจำนวนหลายสิบรายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีไข้สูงและค่าออกซิเจนลดต่ำลง

            รายงานระบุว่า ที่เมืองคูดุส มีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 5,000 ราย กำลังทำงานเป็นแนวหน้าต่อสู้กับการระบาดอย่างหนัก โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากโควิดสายพันธุ์เดลตา หรือ โควิดสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้สูงกว่า และผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์

            ขณะที่ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวง ดร.ปรีโจ ซิดิปราโตโม นักรังสีวิทยา เผยกับรายงานของรอยเตอร์ส ระบุว่า เท่าที่ทราบมีแพทย์อย่างน้อย 6 ราย ติดโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยมีแพทย์ 1 ราย อาการทรุดหนักรักษาตัวอยู่ไอซียู

วัคซีนโควิด 19
ภาพจาก gungpri / Shutterstock.com

            สำหรับประเทศอินโดนีเซีย บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจัดเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเริ่มต้นฉีดไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย (IDI) ระบุว่า เกือบทุกคนได้รับวัคซีนของซิโนแวค (Sinovac) และแม้ว่าตัวเลขบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตจะลดลงอย่างรวดเร็วจาก 158 ราย ในเดือนมกราคม เหลือ 13 ราย ในเดือนพฤษภาคม แต่สายพันธุ์เดลตาก็ทำให้เกิดความกังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค

            ดิกกี บูดิแมน นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ของออสเตรเลีย กล่าวว่า "ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด (ในเมืองคูดุส) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การติดเชื้อรุนแรงจะสูงกว่าก่อนหน้านี้ เพราะอย่างที่เราทราบ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียได้รับวัคซีนซิโนแวค และเรายังไม่รู้ว่ามันมีประสิทธิภาพเพียงใดในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อต้องเจอกับสายพันธุ์เดลตา"

            รอยเตอร์ส ระบุว่า ทางตัวแทนของบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ของจีน ผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค ยังไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งอนุมัติการใช้วัคซีนของซิโนแวคในกรณีฉุกเฉินในเดือนนี้ โดยระบุผลการวิจัยว่า สามารถป้องกันโรคที่แสดงอาการได้ 51 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งลดความรุนแรงและการรักษาตัวในโรงพยาบาล

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก reuters, nikkei



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อินโดฯ วิตก บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อหลายร้อย หลังฉีดซิโนแวค หวั่นเอาสายพันธุ์เดลตาไม่อยู่ อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2564 เวลา 11:59:22 17,562 อ่าน
TOP