จับตา สายพันธุ์เดลตา หลังพบคนไข้ รพ. แห่งหนึ่งใน กทม. ติดเชื้อ 10 ราย

        กรมวิทย์ฯ อัปเดตการเฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ในประเทศ พบสายพันธุ์อัลฟามากที่สุด ส่วนสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบันกระจายอยู่ใน 20 จังหวัด ล่าสุดเจอติดเชื้อ 10 ราย เป็นคนไข้ รพ. แห่งหนึ่งใน กทม.



โควิด19

        วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ข่าวช่องวัน รายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยความคืบหน้าจากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่รอบการระบาดเดือนเมษายน เป็นต้นมา ซึ่งมีการสุ่มตรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 5,500 ราย พบว่า เชื้อโควิดที่ระบาดในไทยมากที่สุดยังคงเป็นสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (สายพันธุ์แอฟริกา)

        - สายพันธุ์อัลฟา พบจำนวน 4,528 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.6

        - สายพันธุ์เดลตา พบจำนวน 496 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.6

        - สายพันธุ์เบตา พบจำนวน 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.6

โควิด19
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ภาพจาก Bignai / Shutterstock.com

        สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ พบว่า อัตราการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย 2 เพิ่มขึ้นกว่า 20 จังหวัด โดยทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่แรกที่พบ คือแคมป์คนงานหลักสี่ กทม. ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด โดยพบเพิ่มในจังหวัดละ 1-2 ราย ได้แก่

        - พิษณุโลก
        - เพชรบูรณ์
        - นครนายก
        - ชลบุรี
        - จันทบุรี
        - ขอนแก่น
        - ร้อยเอ็ด
        - อุดรธานี
        - สกลนคร
        - บุรีรัมย์
        - ชัยภูมิ
        - อุบลราชธานี
        - ปทุมธานี
        - พะเยา


        และล่าสุดพบรายงานคลัสเตอร์ใหม่ สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของ กทม. โดยข้อมูลพบว่า มีกลุ่มผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 10 ราย เป็นกลุ่มคนไข้ที่เข้ารับการรักษาตัว แต่ต้องรอข้อมูลการสอบสวนโรคอีกครั้ง ว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์เดิม คือแคมป์คนงานหลักสี่หรือไม่

        นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ คาดการณ์ว่า สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเหมือนสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อัลฟาจะมีความใกล้เคียงกัน ต้องเฝ้าระวังว่าจะมีผลต่อเรื่องการเสียชีวิต และมีผลต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด

        ขณะที่ TNN รายงานเพิ่มเติมจากข้อมูลพบว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลตามีความไวในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 40% โดยสายพันธุ์เดลตาในไทยขณะนี้ ถือว่ายังทรงตัว แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากพบว่ามีอัตราการแพร่ระบาดสูง เช่น จากสัปดาห์ละ 9% เป็น 12-15% อาจต้องมีการพิจารณาขยับระยะห่างการรับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 แต่ตอนนี้โควิดสายพันธุ์ใดก็ตาม วัคซีนช่วยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการฉีดวัคซีนตอนนี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น

        อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า การตรวจสายพันธุ์ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกราย แต่จะตรวจในกลุ่มที่เฝ้าระวังโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มที่มีอาการรุนแรง กลุ่มคลัสเตอร์หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อนแล้วพบการแพร่ระบาด การเฝ้าระวังตามชายแดน รวมถึงกรณีเคสที่รับวัคซีนแล้วพบการติดเชื้อ

        ทั้งนี้ หลังจากผลตรวจสายพันธุ์ออกมา จะทำการแจ้งผลกลับไปยังพื้นที่นั้น เพื่อดำเนินการควบคุมสอบสวนโรคต่อไป

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูล ข่าวช่องวัน, TNN



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตา สายพันธุ์เดลตา หลังพบคนไข้ รพ. แห่งหนึ่งใน กทม. ติดเชื้อ 10 ราย อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2564 เวลา 17:41:44 13,161 อ่าน
TOP