สายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ไวรัสตัวร้ายจะดุแค่ไหน วัคซีนตัวใดกำราบได้บ้าง

            สายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ตอนนี้มีอะไรบ้าง สรุปข้อมูลแต่ละสายพันธุ์ ดุแค่ไหน วัคซีนตัวไหนกำราบได้บ้าง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ในไทย
สายพันธุ์โควิดในไทย

            ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตามอง สำหรับการระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) ระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้พบตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นหลักพัน และมีผู้เสียชีวิตรายวันจำนวนหลายสิบราย ยิ่งกลายเป็นภาพตอกย้ำให้เห็นความสำคัญถึงมาตรการป้องกันโรค การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ตลอดจนการกระจายฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

            ท่ามกลางการระบาดของโรคในวงกว้าง อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลแก่คนในสังคมก็คือการพบเชื้อไวรัสที่มีการกลายพันธุ์จากต่างแดนในประเทศไทย ทำให้หลายคนอดวิตกไม่ได้ว่าไวรัสสายพันธุ์จากต่างประเทศเหล่านี้ จะมีความดุมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมแค่ไหน และวัคซีนที่ไทยมีจะเอาอยู่หรือไม่ ??

โควิด 19 ในไทย
ตอนนี้พบสายพันธุ์ไหนบ้าง

            ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 พบว่า ไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ซึ่งพบในประเทศไทย ขณะนี้มีทั้งหมด 8 ตัวด้วยกัน ประกอบด้วย

สายพันธุ์อังกฤษ - B.1.1.7

  •   สำหรับสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 พบครั้งแรกที่เมืองเคนต์ ของอังกฤษ ในเดือนธันวาคม 2563 และเพิ่งเริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยพบทั้งในสถานควบคุมโรคของรัฐและเอกชน และพบการระบาดในส่วนท้องถิ่นหลายจังหวัด
     
  •   ความร้ายของไวรัสสายพันธุ์นี้ คือ มีการติดต่อได้ง่ายกว่า มีความรุนแรงมากกว่า มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์เดิม

สายพันธุ์บราซิล - P.1

  •   เริ่มแพร่ระบาดในพื้นที่โซนแอมะซอนตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 แต่ถูกพบครั้งแรกที่ญี่ปุ่น โดยพบในนักท่องเที่ยว 4 คน ที่เพิ่งเดินทางกลับจากบราซิล โดยไวรัส P.1 ได้รับการยกระดับเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (Variant of concern : VOC)
     
  •   สิ่งที่ทำให้น่ากังวล คือ P.1 สามารถระบาดได้รวดเร็วว่าไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสตัวแรก สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก รวมถึงผู้ติดเชื้อ P.1 มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ - 501Y.V2 หรือ B.1.351

  •   ไวรัสก่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 พบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เมืองอีสเทิร์นเคป ของแอฟริกาใต้ ในเดือนตุลาคม 2563 ก่อนจะพบเชื้อตัวนี้ในคลัสเตอร์ที่ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 และได้รับการยกระดับเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (VOC)
     
  •   สิ่งที่ทำให้ B.1.351 เป็นที่น่ากังวล คือ ไวรัสตัวนี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อไวรัส ลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่ไม่ได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดการป้องกันระดับประชากร

สายพันธุ์อินเดีย - B.1.617.1 และ B.1.617.2

  •   ไวรัสก่อโรคโควิด 19 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 และ B.1.617.2 พบครั้งแรกในประเทศอินเดียก่อนจะมีการกระจายไปในหลายสิบประเทศ และได้รับการยกระดับเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (VOC) ในต้นเดือนพฤษภาคม 2564
     
  •   ความน่ากลัวก็ คือ โควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 มีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ถึง 60%
สายพันธุ์โควิดในไทย

สายพันธุ์อื่น ๆ

  •   A.6 เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการระบาดในปี 2563 พบในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
     
  •   B.1.36.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่เริ่มระบาดในไทยเมื่อต้นปี 2564 คาดว่าขณะนี้เป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นไทย ที่เข้ามาแทนสายพันธุ์ A.6 พบในพื้นที่สมุทรสาคร ปทุมธานี และพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ
     
  •   B.1.524 ก่อนหน้านี้มีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนพบในพื้นที่ภาคใต้ และ ตม.บางเขน

ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ
(Variant of concern : VOC) คืออะไร

            สำหรับไวรัสก่อโรคโควิด 19 ที่ได้รับการยกระดับเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คือสายพันธุ์ที่ได้รับการประเมินแล้วว่า

            1. มีการแพร่กระจายของไวรัสได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

            2. ก่อให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

            3. ลดประสิทธิภาพของมาตรการสาธารณสุขและสังคม หรือความสามารถในการวินิจฉัย ลดประสิทธิภาพของวัคซีน และลดประสิทธิภาพในการรักษา เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม

วัคซีนโควิด ตัวไหน
ใช้กำราบไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้บ้าง

            ในขณะที่สังคมยังเกิดความกังวลใจเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสที่มีหลากหลายสายพันธุ์ หนึ่งในคำถามสำคัญก็คือ วัคซีนโควิด 19 ที่มีอยู่ตอนนี้จะมีประสิทธิภาพในการต่อต้านและป้องกันโรคมากแค่ไหน และวัคซีนตัวใดจะใช้สกัดไวรัสสายพันธุ์ใดได้บ้าง

            ทั้งนี้ จากรายงานของ dw.com พบว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป ได้ออกมาให้ความมั่นใจด้านประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 ในการป้องกันโคโรนาไวรัส

ยืนยันว่า ไวรัสก่อโรคโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้
มีการตอบสนองต่อวัคซีนโควิดทุกตัวที่ได้รับการอนุมัติแล้ว

สายพันธุ์โควิดในไทย

สำหรับวัคซีนโควิด 19
ที่ได้รับการอนุมัติจาก WHO แล้ว ประกอบด้วย

  •   วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จาก สหรัฐอเมริกา
  •   วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จาก สหราชอาณาจักร
  •   วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) จาก สหรัฐอเมริกา
  •   วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield) ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย
  •   วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) จาก สหรัฐอเมริกา
  •   วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จาก จีน

            ขณะที่รายงานจาก BBC ในวันที่ 23 พฤษภาคม เผยข้อมูลการศึกษาจากสาธารณสุขของอังกฤษ พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ และ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพสูงในการต้านไวรัสสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 และ สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่พบในไทย โดยเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม พบว่า
 

สายพันธุ์โควิดในไทย

ภาพจาก Giovanni Cancemi / Shutterstock.com

วัคซีนไฟเซอร์
 

  • มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัส B.1.617.2 ถึง 88% และสามารถต้านไวรัส B.1.1.7 ถึง 93%


วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
 

  • มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัส B.1.617.2 ถึง 60% และสามารถต้านไวรัส B.1.1.7 ถึง 66%
     

            ขณะที่ข้อมูลจาก WHO บ่งชี้ว่า วัคซีนโควิด 19 ที่มีอยู่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นได้บ้าง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เนื่องจากวัคซีนสร้างการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันในวงกว้าง การกลายพันธุ์ของไวรัสไม่น่าจะทำให้วัคซีนไร้ประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์

วัคซีนต้านโรคได้
แต่คนยังต้องป้องกันตัว

            WHO ย้ำว่า ในขณะที่ยังมีการศึกษาข้อมูลไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ คนยังต้องทำทุกทางเพื่อหยุดยั้งการกระจายของไวรัส เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ที่อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ โดยยังจำเป็นต้องเว้นระยะห่าง 1 เมตร ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
 

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 <<  ได้ที่นี่

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ไวรัสตัวร้ายจะดุแค่ไหน วัคซีนตัวใดกำราบได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2564 เวลา 16:03:40 85,933 อ่าน
TOP