อาการโควิด 19 เป็นยังไง มีวิธีรักษาแบบไหนบ้าง


          อาการโควิด 19 มีอะไรบ้าง เช็กอาการติดเชื้อโคโรนาไวรัส สัญญาณไหนบอกชัดเลยว่าป่วยแน่ ๆ พร้อมวิธีรักษาโรค COVID-19 ให้หาย ต้องทำยังไงบ้าง

COVID-19

          ช่วงนี้ใครป่วยนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เริ่มไม่สบายใจ กลัวว่าจะใช่อาการของโรค COVID-19 ไหม ยิ่งพบเจอคนที่มีอาการไอ หรือจาม ก็ยิ่งพารานอยด์ไปใหญ่ว่าเขาจะแพร่เชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังระบาดอยู่หรือเปล่า อย่างนี้ต้องเช็กหน่อยแล้วล่ะว่าอาการป่วยแบบไหนจะเข้าข่าย COVID-19 แล้วถ้าติดเชื้อจริง ๆ ขึ้นมา จะรักษาด้วยวิธีไหน

อาการโควิด 19 มีอะไรบ้าง


          จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า อาการแสดงหลัก ๆ ของร่างกายเมื่อป่วยเป็นโควิด สามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

อาการโควิดที่พบได้บ่อย

         1. มีไข้ มีอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป (แต่ปัจจุบันพบว่าบางรายอาจไม่มีไข้เลย)
         2. มีอาการทางเดินหายใจข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจจะมีเพียงอาการเดียว หรือมากกว่านั้น คือ
            - เจ็บคอ
            - ไอ
            - มีน้ำมูก
            - หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
            - มีอาการปอดอักเสบ
            - จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

อาการอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง
 
          นอกจากมีอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ในผู้ป่วยหลายรายยังมีรายงานพบอาการเหล่านี้ด้วย แต่เป็นเพียงอาการร่วม ไม่ใช่อาการแสดงหลักของโรค เช่น

            - ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ
            - อ่อนเพลีย
            - ปวดหัว
            - ท้องเสีย
            - คลื่นไส้ อาเจียน
            - ตาแดง หรือเคืองตา
            - มีผื่นขึ้น

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการระบาดในปี 2564 พบโควิด 19 ระบาดในหลายสายพันธุ์มากขึ้น ซึ่งอาจมีอาการแตกต่างกันไปบ้าง ดังนี้

อาการโควิดสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7)

          อาจพบอาการต่อไปนี้

            - ในช่วง 14 วันแรกจะมีอาการเป็นไข้  
            - หนาวสั่น
            - ไอ หายใจถี่หายใจลำบาก
            - ปวดศีรษะ
            - สูญเสียการได้กลิ่น
            - เจ็บคอ
            - มีน้ำมูก
            - อ่อนเพลีย
            - ปวดเมื่อยตามร่างกาย
            - อาเจียน หรือท้องเสีย
            - มีผื่นขึ้นที่เท้าหรือนิ้วเท้า ลักษณะคล้ายตาข่ายหรือเส้นใยเล็ก ๆ หรือมีจุดเลือดออก หรือมีผื่นบวมแดงคล้ายโรคลมพิษ หรือบางรายอาจมีลักษณะกลุ่มของตุ่มน้ำคล้ายโรคอีสุกอีใส
            - บางรายอาจมีอาการตาแดง แต่พบได้น้อยเพียง 1-3% โดยมีอาการเยื่อบุตาอักเสบหรือบวม น้ำตาไหล ระคายเคืองตา คัน มีขี้ตา ตาสู้แสงไม่ได้



อาการโควิดสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย B.1.617)

            - ปวดหัว
            - เจ็บคอ
            - มีน้ำมูก
            - มักจะไม่ค่อยสูญเสียการรับรส
            - มีอาการทั่วไปคล้ายหวัดธรรมดา

          ดังนั้นหากรู้สึกไม่สบาย คล้ายเป็นหวัด ควรสังเกตตัวเอง หากมีอาการน่าสงสัยให้รีบไปพบแพทย์

อาการโควิดสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้)


            - ปวดเมื่อยตามร่างกาย
            - เจ็บคอ
            - ท้องเสีย
            - ปวดศีรษะ
            - ตาแดง
            - การรับรสหรือการได้รับกลิ่นผิดปกติ
            - มีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง หรือนิ้วมือ นิ้วเท้าเปลี่ยนสี

อาการโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (B.1.1.529)

ทีมศึกษาวิจัยจากอังกฤษพบว่าผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนจะมีอยู่ 8 อาการที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อโอมิครอน คือ

            - เจ็บคอ (อาจมีไอแห้ง)
            - น้ำมูกไหล
            - จาม
            - อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
            - ปวดศีรษะ
            - ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
            - เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน และอาจทำให้เสื้อผ้าชุ่มด้วยเหงื่อจนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า แม้ว่าจะนอนในห้องแอร์ก็ตาม
            - ปวดหลังส่วนล่าง


          ทั้งนี้ อาการเหล่านี้ยังมีความคล้ายกับโรคภูมิแพ้ ไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ ใครที่สงสัยว่าเราป่วยอะไรกันแน่ ลองเปรียบเทียบความแตกต่างกันดู


อาการโควิด

อาการโควิด

          ทั้งนี้ สำหรับโควิดสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในระลอกใหม่ พบผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบมากขึ้น แม้แต่หนุ่มสาวบางคนที่ไม่มีอาการป่วยใด ๆ เลย แต่เมื่อเอกซเรย์ปอดกลับเจอฝ้าที่แสดงถึงภาวะปอดอักเสบ ทำให้รักษาได้ล่าช้าและอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ลองมาเช็กอาการเบื้องต้นกันว่า หากเชื้อโควิดลงปอดจะมีอาการแสดงอย่างไรบ้าง แล้วจะเป็นอันตรายแค่ไหน รักษาได้ไหม


โควิด 19 รักษาอย่างไร


          แนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 แพทย์จะคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ และให้การรักษา ดังนี้

1. กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ

          - แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้านหรือในสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ระยะเวลาการกักตัว (ในสถานพยาบาลรวมกับที่บ้าน) อาจนานกว่านี้ในผู้ป่วยบางราย ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ (สําหรับจังหวัดที่มีปัญหาการบริหารเตียง อาจใหอยู่โรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน)

          - ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา

          - พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ แต่ไม่ให้ฟ้าทะลายโจร ร่วมกับยาต้านไวรัส เพราะอาจมีผลข้างเคียงจากยา

2. กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง

          - พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เริ่มให้ยาเร็วที่สุด

          - หากตรวจพบเชื้อมาเกิน 7 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

          - แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้านหรือในสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ หากเข้าเกณฑ์ที่จะรับการรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ก็สามารถให้การรักษาในลักษณะดังกล่าวได้ โดยให้ปฏิบัติตามหลักการแยกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน (รวมทุกระบบการรักษา) นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง

3. กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวมเล็กน้อย (หายใจเหนื่อย)

          โดยปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

          - อายุมากกว่า 60 ปี
          - เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมทั้งโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
          - โรคไตเรื้อรัง
          - โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคหัวใจแต่กำเนิด
          - โรคหลอดเลือดสมอง
          - เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
          - ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.)
          - ตับแข็ง
          - ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม.

          หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น

          ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องนอนโรงพยาบาล โดยอยู่ในระบบการรักษาและการแยกโรคอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น (อาจอยู่โรงพยาบาลน้อยกว่า 14 วัน แล้วกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 14 วัน)

        ทั้งนี้ แนะนำให้ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5 วัน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสม นอกจากนี้อาจให้ยาลดการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ในกรณีผู้ป่วยมีอาการและภาพถ่ายรังสีปอดแย่ลง โดยค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 96%

4. ผู้ติดเชื้อที่มีปอดบวม หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจนขณะออกแรงลดลงมากกว่า 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรก

          - ต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิก

          - หากไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และอาจให้ยาลดการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

          อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นหญิงตั้งครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) แทนฟาวิพิราเวียร์

ฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด 19 ได้ไหม


           จากแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ได้ระบุกรณีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิด 19 ไว้ว่า ยาฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ anti-SARS-CoV-2, anti-inflammatory และลดอาการไข้ หวัด เจ็บคอ สามารถพิจารณาใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโควิด 19 ที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าอาจช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคไปเป็นปอดอักเสบได้ ขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติม

           สำหรับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ใหญ่คือ

           - ใช้ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลหรือยาเม็ดที่มีสารฟ้าทะลายโจรชนิดสารสกัด หรือผงบด ซึ่งระบุปริมาณของสารแอนโดรกราโฟไลด์เป็นมิลลิกรัมต่อแคปซูล หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาณยา

           - คำนวณให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัม/คน/วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร กินติดต่อกัน 5 วัน (ถ้าจำนวนแคปซูลต่อครั้งมาก อาจแบ่งให้ 4 ครั้ง/วัน)

           - เริ่มยาเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2

เกณฑ์ในการพิจารณาให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ต้องประกอบด้วย

           1. ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และภาพรังสีปอดไม่แย่ลง

           2. อุณหภูมิไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง

           3. อัตราการหายใจ (Respiratory rate) ไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที

           4. ค่าออกซิเจนในเลือดมากกว่า 96% ขณะพัก

          และเมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและปฏิบัติตัวตามแนววิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่ระบายอากาศไม่ดี โดยสามารถพักอยู่บ้านหรือไปทำงานได้ตามปกติ


          ไม่ว่าจะโรค COVID 19 หรือโรคอะไรก็ตาม การตรวจเจอโรคตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพที่ดีได้ ดังนั้นก็ควรหมั่นเช็กอาการตัวเองให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างสูงในทุกกรณี

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 7 มกราคม 2565



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการโควิด 19 เป็นยังไง มีวิธีรักษาแบบไหนบ้าง อัปเดตล่าสุด 7 มกราคม 2565 เวลา 16:55:42 447,456 อ่าน
TOP